เรื่องหนึ่งที่ควรระวังในช่วงที่หลายพื้นที่เผชิญภาวะน้ำท่วม คือ ‘ปลิง’ สัตว์ที่อยู่ในน้ำ โดยเฉพาะน้ำนิ่งๆ ทั้งหนองน้ำ ลำธาร รวมถึงบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง ในประเทศไทยมักพบปลิง 2 ชนิด คือ ปลิงเข็ม ตัวยาวขนาดใกล้เคียงกับก้านไม้ขีดไฟ อีกชนิดเป็นปลิงควาย ตัวยาว 3 นิ้ว ลำตัวกว้าง 1 นิ้ว
กรณีมีความจำเป็นต้องลงไปในน้ำที่ท่วมขังและนิ่ง เมื่อขึ้นจากน้ำแล้วต้องสังเกตตามเนื้อตัวของตนเองอย่างละเอียด เพราะหากถูกปลิงเกาะ ตัวของปลิงนั้นเบาจึงไม่ทำให้รู้สึกว่า มีสิ่งแปลกปลอมเกาะติดอยู่ เช่นเดียวกับการดูดเลือดของปลิงก็เป็นไปอย่างแผ่วเบา
ระหว่างที่ปลิงเริ่มกัดและดูดเลือดจะปล่อยสารที่มีฤทธิ์คล้ายยาชาออกมา ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ ทั้งยังมีสารช่วยขยายหลอดเลือดและสารต้านการแข็งตัวของเลือด เพื่อให้ดูดเลือดได้ต่อเนื่อง หากปลิงยังดูดเลือดไม่อิ่มก็ยังจะเกาะอยู่อย่างนั้น โดยจะหลุดออกเมื่ออิ่ม ทว่าถูกรุมเกาะหลายตัวและถูกดูดเลือดมาก ก็จะเกิดอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด
วิธีแกะปลิงให้หลุดออก
ไม่ควรใช้มือหรืออุปกรณ์อื่นดึงหรือกระชากตัวปลิงออกจากผิวหนังโดยตรง เนื่องจากจะทำให้เกิดแผลฉีกขาด เลือดหยุดยาก แต่วิธีที่ควรทำในเบื้องต้นมีทั้งใช้น้ำมะนาว น้ำมะกรูด น้ำเกลือเข้มข้น หรือน้ำแช่ยาฉุนหรือยาเส้นไส้บุหรี่ อย่างใดอย่างหนึ่งราดใส่ตรงที่ปลิงเกาะ นอกจากนี้ยังอาจเลือกใช้บุหรี่ที่ติดไฟหรือธูปติดไฟ จี้ลงไปที่ตัวปลิง ก็ทำให้ปลิงหลุดออกเอง
เมื่อปลิงหลุดออก ให้หยดยาฆ่าเชื้อที่คอตตอนบัดและเช็ดเป็นวงรูปก้นหอย เริ่มจากส่วนในของแผลวนออกรอบนอกแผล เช็ดวนรอบเดียวเพื่อไม่ให้แผลสกปรก แล้วเปลี่ยนอตตอนบัดอันใหม่ สัก 2-3 อัน
หากไม่สามารถเลี่ยงการลงไปในน้ำที่ท่วมขัง ควรป้องกันตนเองจากปลิงและสัตว์มีพิษอื่นๆ เช่น งู ตะขาบ ด้วยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดรัดกุมและมัดปลายขากางเกง โชลมเสื้อผ้าส่วนที่ต้องโดนน้ำด้วยน้ำมันก๊าดจะช่วยป้องกันสัตว์มีพิษได้.
ที่มา : ทีมเดลินิวส์ออนไลน์ takecareDD@gmail.com