คำว่า ไทย ซึ่งเขียนโดยมีอักษร ย ยักษ์ สะกด หรือเคียงอยู่กับ ท ทหาร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนิยามว่า ไทย 1 (ไท) น. ชื่อประเทศและชนชาติที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนติดต่อกับลาว เขมร มาเลเซีย และพม่า
ทั้งนี้ หนังสือตำราหรือหนังสือประวัติศาสตร์ของไทยในสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นชื่อประเทศหรือชนชาติ ส่วนใหญ่เขียนว่า ไท ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงต้องเขียนให้มีตัว ย ในสมัยหลัง
มีผู้วินิจฉัยไว้ดังมีสาระสำคัญใน หนังสือ บันทึกสมาคมวรรณคดี ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 มิถุนายน 2475 คำว่า ไท กล่าวกันว่า เนื่องมาจากคำจีนคือ ไท ไถ่ ไท้ ประเด็นสำคัญของปัญหาก็คือเมื่อกล่าวกันว่าเนื่องมาจากคำจีน 3 คำนั้น ไม่มีตัว ย แล้วเหตุใดจึงมาเขียนให้มีตัว ย
ข้อนี้มีผู้เสนอข้อวินิจฉัย 2 ท่าน ดังนี้
พระเจนจีนอักษร (สุตใจ ตัณฑากาศ) วินิจฉัยว่า
-
คำว่า ไต คงจะเล็งเอาอักษรจีนที่ภาษาแต้จิ๋วอ่านว่า ไต๋ ฮกเกี้ยนอ่านว่า ไต กวางตุ้ง ปักกิ่ง กลาง อ่านว่า ตา หรือ ต๋า ในหนังสือฆังฮียี่เตี้ยน แปลว่า แรกเริ่ม ใหญ่ มหึมา
-
คำว่า ไถ่ คงจะเล็งเอาอักษรจีน ซึ่งภาษาจีนทุกภาษาอ่านว่า ไถ่ ในหนังสือฆังฮียี่เตี้ยนแปลว่า ใหญ่ที่สุด
หาก ไท เนื่องมาจากภาษาจีนแล้ว ผู้บัญญัติท่านคงเล็งเอาคำว่า ไถ่ เพราะแปลว่าใหญ่ที่สุด และยังเป็นนามสกุลคนโบราณด้วย ครั้นสืบมาหลายชั่วคน คำว่า ไถ่ ก็แผลงเป็น ไท ส่วนคำว่า ไท้ เป็นภาษาไทย แปลว่าผู้เป็นใหญ่ คงแผลงจากคำว่า ไถ่ หรือ ไท
สำหรับ เหตุผลที่เขียนว่า ไทย (มีตัว ย) หนังสือมูลบทบรรพกิจ ฉบับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) กล่าวว่า คำไม้มลายเป็น 2 อย่าง คำไม้มลายที่มี ตัว ย สะกด คำนั้นเป็นภาษามคธอย่าง หนึ่ง คำที่มีแต่ไม้มลายล้วนด้วยเป็นคำไทยอย่างหนึ่ง
การเขียนว่า ไท แล้วเอาตัว ย สะกด ก็ยังอ่านว่า ไทย หรือผู้มีอำนาจแผนกอักษรศาสตร์สมัยต่อมา เห็นว่าภาษามคธเป็นภาษาบาลีอันขลัง จึงใช้ ตัว ย สะกดคำว่า ไท ให้เขียนว่า ไทย
พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) วินิจฉัยว่า
ตรวจดูภาษาไทยในจารึกสุโขทัยก่อนหลักที่ 3 มีคำว่า ไท ใช้โดยมีตัว ย แถมก็มี ไม่มีตัว ย แถมก็มี ได้แต่สันนิษฐานโดยประมวลความในจารึก
คือสันนิษฐานว่าตัว ย เกิดเมื่อจารึกเป็นภาษามคธ (หลักที่ 6) มีคำว่า ลีเทยฺยนามโก ธมฺมราชา เมื่อเรียงพระนามพระเจ้าแผ่นดินลงเป็นภาษามคธมี ตัว ย แล้ว ภาษาไทยก็เลยใส่ตัว ย ลงไปด้วย เพื่อให้พระนามขึ้นสู่ภาษาอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งนับถือกันอยู่มาก
แต่คำว่า ไท ที่มิไช่นามพระเจ้าแผ่นดินยังปล่อยให้ล้นอยู่ก่อน เห็นจะมาเริ่มใส่ตัว ย เติมภายหลังแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถลงมา
ส่วนคำว่า ไท้ คือ ไท แต่ทำไม ไท้ จึงไม่ถูกเติมตัว ย ข้อนี้ก็ต้องตอบโดยหลักว่าภาษามคธไม่มีไม้ไท และความรู้สึกในเวลานี้ดูเหมือนจะแปลกันว่าคำแทนพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ใช้ในทางแทนเทวดาก็มี
ถ้ายกให้ว่าเป็นคำจีนดังที่พระเจน จีนอักษรได้แปลแล้ว ปัญหาเรื่องแปลว่ากระไรก็ไม่มีในคำนี้ สรุปได้ว่าเราใช้คำว่า ไทย (ท ทหาร-สระไอไม้มลาย-ย ยักษ์) สำหรับเรียกประเทศ คน สังคม วัฒนธรรม ภาษา และสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรไทย หรือเรียกทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในผืนแผ่นดินที่มีชื่อเป็นทางการว่า ประเทศไทย คำว่า ไทย เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า THAI (T-H-A-I)
ที่มา : เอกสารสดุดีบุคคลสำคัญ สำนักงานคณะกรรมการเสริมสร้างเอกลักษณ์แห่งชาติ โดย อ.ประพัฒน์ ตรีณรงค์