hedfang

อีกประเดี๋ยวเดียวก็จะถึงเทศกาลกินเจอีกแล้ว เกษตรกรก้าวหน้าอย่างเราจึงอยากนำเสนอวิธีเพาะเห็ดฟางทานเองในช่วงเทศกาลกินเจ หรือจะเพาะเป็นอาชีพเสริมก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องขายตรงส่งถึงมือผู้บริโภคเองถึงจะคุ้มค่า หากต้องการเพาะเห็ดฟางเพื่อให้มีทานในช่วงเทศกาลกินเจจะต้องเพาะในวันที่ 14 และ 19 เดือนกันยายน ใช้เวลาเพียง 10 วันก็สามารถเก็บเห็ดมารับประทานได้แล้วค่ะ ซึ่งจะอยู่ในฤดูกาลทานเจพอดิบพอดี วันนี้ขอนำเสนอ “การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า”

ส่วนประกอบสำคัญ 3 อย่างของการเพาะเห็ดคือ วัสดุเพาะ อาหารเสริม และเชื้อเห็ด โดยวัสดุเพาะที่ทำให้เกิดดอกเห็ดสูง ได้แก่ ทะลายปาล์ม, ฟางข้าวเหนียว, ขี้ฝ้ายผสมเปลือกถั่วเหลืองหรือเปลือกถั่วเขียว และกากมันสำปะหลัง เป็นต้น ส่วนอาหารเสริมที่ใช้ร่วมกับการเพาะนั้นใช้ได้หลายตัว เช่น ผักตบชวาสับตากแห้ง, ไส้นุ่น, ขี้ฝ้าย ,เปลือกถั่วเหลืองหรือเปลือกถั่วเขียว, ปุ๋ยคอก (มูลวัว,ควาย) ฯลฯ ในส่วนของ “หัวเชื้อเห็ดฟาง” ถือได้ว่าเป็นหัวใจของการเพาะ ควรใช้เชื้อเห็ดที่ไม่อ่อนหรือแก่ จนเกินไป โดยเชื้อเห็ดฟางมีอายุเพียง 20 วัน ตั้งแต่วันที่1-5 เรียกว่า “เชื้ออ่อน” วันที่ 6-15 เป็น “เชื้อช่วงกลาง” เหมาะสมที่สุด และ “เชื้อแก่” วันที่ 16-20 เลยจากนี้ถือว่า เชื้อหมดอายุ”

ขั้นตอนการเพาะเห็ดในตะกร้านั้น ขั้นแรกเราจะต้องเตรียมอุปกรณ์ ได้แก่ ตะกร้าตาห่าง, เชื้อเห็ดฟาง ( 1 ก้อน เพาะได้ 3 ตะกร้า), ฟาง, รำละเอียดหรือแป้งข้าวเหนียว, พลาสติกใส, สแลนสีดำ, โครงไม้หรือเหล็กสำหรับครอบถ้าไม่มีจะใช้สุ่มไก่ก็ได้ และที่ขาดไม่ได้คืออาหารเสริม ที่หาง่ายที่สุดคือผักตบชวา โดยนำต้นและรากล้างให้สะอาดจากนั้นก็นำมาสับหยาบ ๆ ตากแดดให้แห้ง อย่าให้โดนน้ำ โดนฝน จากนั้นนำใส่กระสอบเก็บไว้

วิธีการทำ

1. เริ่มจากเอาฟางไปแช่น้ำให้อิ่มตัว โดยอัตราส่วนระหว่างฟางแห้งกับน้ำ จะอยู่ที่ ฟาง 1 กิโลกรัม ต่อ น้ำ 2 กิโลกรัม นำมาแช่ประมาณ 12 ชั่วโมง หรือ 1 คืน ห้ามแช่นานกว่านี้เพราะเชื้อจะบูดเน่า และเห็ดจะไม่งอก ในส่วนของอาหารเสริมนั้น ให้นำมาแช่น้ำในตอนเช้าของวันที่จะเพาะ แช่ไว้ 1-2 ชั่วโมง นำเชื้อเห็ดมาขยี้ให้ร่วน จากนั้นนำรำละเอียดหรือแป้งข้าวเหนียวมาผสมเล็กน้อย เมื่อผสมเสร็จแล้วให้แบ่งเชื้อเป็น 3 กองเท่า ๆ กัน (1 กองใหญ่ เพาะได้ 1 ตะกร้าและใน 1 ตะกร้าจะได้ 4 ชั้น)

2. นำฟางมาใส่ลงในตะกร้าสูงเท่า 1 ฝ่ามือ จากนั้นกดให้แน่นพอสมควรแต่ไม่ต้องแน่นมาก นำอาหารเสริมโรยชิดขอบตะกร้า หลังจากนั้นนำเชื้อเห็ด 1 กองย่อยที่แยกไว้มาโรยทับอาหารเสริม เป็นอันเสร็จการทำชั้นที่ 1 จากนั้นก็ทำชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ต่อ โดยวิธีการทำเช่นเดียวกับชั้นที่ 1 เสร็จแล้วนำฟางมาอัดทับชั้นที่ 3 ให้เสมอปากตะกร้าพอดี จากนั้นใช้อาหารเสริมอย่างใดอย่างหนึ่งโรยทับฟางให้เต็มหน้าตะกร้า แล้วใช้หัวเชื้อเห็ดส่วนที่ 4 โรยเต็มหน้าตะกร้าให้ทั่ว แล้วจึงปูทับด้วยอาหารเสริมอย่างใดอย่างหนึ่งอีกครั้ง เท่านี้ก็เป็นอันว่าเสร็จ 1 ตะกร้า

ถ้าหากวางตะกร้าเห็ดบนพื้นดินให้รดน้ำเพิ่มความชื้นในดิน หากเป็นพื้นปูนให้นำฟางแช่น้ำมารองพื้นแล้ววางทับเรียง เป็นแถว จากนั้นนำโครงเหล็กหรือโครงไม้ มาพาดไว้ แล้วนำพลาสติกใสมาคลุมทับ หาวัสดุมาทับให้แน่น แล้วคลุมทับด้วยสแลนอีกที ปล่อยทิ้งไว้ 3 คืน เช้าวันที่ 4 ให้เปิดสแลนและพลาสติกใสออก รดน้ำที่พื้นเพื่อเพิ่มความชื้นอีกครั้ง ห้ามรดถูกตะกร้าเด็ดขาด เสร็จแล้วให้คลุมพลาสติกไว้เช่นเดิม แต่เปิดรูระบายอากาศช่วงบน ด้านข้างของโครงทั้ง 2 ข้างไว้ แล้วคลุมด้วยสแลนเหมือนเดิม อีกเพียง 6 วัน จะเห็นดอกเห็ดเกิดขึ้นรอบตะกร้า ถ้ายังไม่เกิดแสดงว่าผิดปกติ เพียงเท่านี้เราก็จะมีเห็ดสำหรับรับประทางเองที่บ้านแล้วค่ะ

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่ คุณชัย ลินมา ที่ฟาร์มเห็ดเพชรพิจิตร เลขที่ 1 / 2 หมู่ 9 บ้านยางโทน ต.บ้านนา อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร 66140 โทร. 08-1886-9920

ที่มา : facebook เกษตรกรก้าวหน้า

By Solar